จากอดีตห้องเรียน สู่แหล่งเรียนรู้ชุมชน @Phuket Thai-Hua Museum

จากห้องเรียน สู่แหล่งเรียนรู้ชุมชน-2

“พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (Phuket Thai-Hua Museum)” แหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ย้อนดูอดีต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแบบชาวภูเก็ต

มาภูเก็ตแล้วจะไปไหนดี?

คงหนีไม่พ้นทะเล ภูเขา เดินชมเมือง ลองมาเที่ยวเชิงวัฒนธรรมดูกันบ้าง แหล่งเรียนรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ เก็บสะสมเรื่องราวจากอดีตส่งต่อวัฒนธรรมสู่ความเป็นเมืองเก่าแก่ที่ชื่อว่า “ภูเก็จ”

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากเหง้าของคนจีนที่อพยพมาตั้งรกรากที่ภูเก็ต รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต ทั้งประวัติ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สถาปัตยกรรม และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดภูเก็ต ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ “ภูเก็ตไทยหัว” อาคารหลังนี้ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน “ภูเก็ตไทยหัว” ที่เก่าแก่ที่สุดของภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนโดยการบูรณะตึกโบราณที่เก่าแก่หลังนี้ ให้มีสภาพสมบูรณ์สวยงาม ภายในตัวตึกจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตชาวจีนภูเก็ตตั้งแต่เดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล เดินทางมาก่อร่างสร้างตัว ความสัมพันธ์ไทยจีน แบบอย่างของผู้ประสบความสำเร็จ ประวัติโรงเรียน ครูใหญ่คนสำคัญ อาชีพภูมิปัญญา ประเพณีพิธีกรรม ตึกเก่าชิโน – ยูโรเปียน การแต่งกาย และอาหารพื้นเมือง

ย่างก้าวเข้าสู่วิถีอดีตสู่เรื่องราวที่เริ่มเดินทาง “จากแดนพญามังกร” การเดินทางของชาวจีนที่มาเยือนภูเก็ตในแต่ละยุค เข้ามาอยู่บริเวณไหน ทำอาชีพอะไร พร้อมเล่าความเป็นมาของสถานที่เหล่านั้น สู่การร่วมกลุ่มของชาวจีนโพ้นทะเล ที่ช่วยเหลือกันเป็น “สายธารสัมพันธ์” พัฒนาจนเกิดเป็นองค์กรต่างๆ ขึ้นในภูเก็ต “สัมพันธ์ภูเก็ตจีน” แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของชาวภูเก็ตกับชาวจีนผ่าน “น้ำใจพี่น้อง” คอยอุปถัมภ์สร้างโรงเรียนหลังนี้ขึ้นมาด้วยจิตใจสาธารณะ ซึ่งได้รับความร่วมมือกันของชาวบ้าน ห้างร้าน ให้การศึกษาแก่ลูกหลาน ไว้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง

ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ของครูท่านหนึ่ง “ครูสุ่นปิ่น” ครูใหญ่ผู้เป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค จนกลายเป็น “โรงเรียนจีน”  แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะภูเก็ตแห่งนี้ ด้วยรูปทรงลักษณะเฉพาะของอาคารทรงชิโน – ยูโรเปียน อันเป็นเอกลักษณ์ทรงคุณค่าของเมืองภูเก็ต โดยฝีมือของ “คนจีนสร้างเมือง”

ชาวจีนภูเก็ตยังคง “สืบทอด” ทั้ง“วิถีชีวิต”ที่หลากหลายของชาวจีนภูเก็ต อาชีพ ความเป็นอยู่ วรรณกรรรม ภูมิปัญญาของชาวภูเก็ตในอดีต ลักษณะที่มาการแต่งกายและเครื่องประดับของ “ชาวบาบ๋า” เรื่องราวประเพณีพิธีกรรมสำคัญของชาวภูเก็ต “วัฒนธรรมการกิน” ทั้งอาหารคาว อาหารหวานของท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากปีนังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังคงสามารถหากินได้ตามร้านอาหารต่างๆ รอบเมืองภูเก็ต

“พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (Phuket Thai-Hua Museum)”  โรงเรียนจีนอันเก่าแก่ในอดีตสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นิทรรศการเชิงประวิติศาสตร์ ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวรอบตัวเมืองภูเก็ตลองเดินทางมาศึกษาวิถีชีวิตชาวภูเก็ต “จากอดีตห้องเรียน สู่แหล่งเรียนรู้ชุมชน”  เพื่อเข้าใจภูมิปัญญา วัฒนธรรม และประเพณี อีกหนึ่งยุคสมัยของชาวภูเก็ตมากยิ่งขึ้น เพราะที่นี่มีอดีต ลองมาย้อนอดีตกันที่ “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (Phuket Thai-Hua Museum)”  

“พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (Phuket Thai-Hua Museum)” ตั้งอยู่อยู่บริเวณถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ  อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

เบอร์ติดต่อ : 076 211 224

E-mail info@thaihuamuseum.com

Website www.thaihuamuseum.com

เวลาทำการ 09.00 น. – 17.00 น. ทุกวัน

รอบการบรรยาย

รอบเช้า 9.30, 11.00 น. รอบบ่าย 13.00, 14.30, 15.00, 16.00

โดยมีค่าธรรมเนียม

ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา 25 บาท

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.