โควิด-19 กับการท่องเที่ยวภูเก็ต ผ่านมุมมอง ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

โควิด-19 กับการท่องเที่ยวภูเก็ต ผ่านมุมมอง ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 ค่อยๆ เริ่มคลี่คลายทั้งในระดับจังหวัดภูเก็ต และในประเทศไทย แม้ในต่างประเทศหลายๆประเทศยังอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในภูเก็ตซึ่งผ่านมาตรการล็อคดาวน์ทั้งระดับตำบลและจังหวัด เริ่มกลับสู่วิถีชีวิตเกือบปกติภายใต้ขอบเขตข้อกำหนดของภาครัฐ แม้จะยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่า ภูเก็ตจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะสามารถขับเคลื่อนได้อีกครั้งจะต้องรออีกนานแค่ไหน แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุด เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะเราคงปฏิเสธความจริงนี้ไม่ได้ว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแน่นอน

ในวิกฤติย่อมมีโอกาสและมีสิ่งใหม่ๆ ที่เราต้องเรียนรู้เสมอ Phuket e-magazine จึงอยากสะท้อนมุมมองของผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากการสัมมนาออนไลน์ “PTA Academy Knowledge in the Crisis” โดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งท่านผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกและภูเก็ต ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สะท้อนให้เห็นแนวทางที่บุคลากรและผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวควรจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราติดตามสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงหลังตรุษจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้มีการประเมินสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเราเทียบเคียงกับประสบการณ์ที่เคยรับมือมาสมัยวิกฤติโรคซาร์ส จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบแค่ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะฟื้นตัวราว 2 เดือน แล้วจะกลับมาเป็นปกติ แต่สถานการณ์โควิด-19 นั้นมีความรุนแรงกว่าสถานการณ์โรคซาร์สค่อนข้างมาก ททท.เราติดตามประเมินสถานการณ์และความสูญเสีย ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การระบาดในประเทศไทยอาจจะดูดีขึ้น แต่ในภูมิภาคอื่น อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา หรือทางยุโรปเองก็ยังมีความรุนแรง แม้กระทั่งประเทศจีนที่น่าจะเป็นข่าวดี แต่จากการพูดคุยกับสำนักงานของ ททท. ทั้ง 5 แห่งในจีนปรากฏว่าตอนนี้เริ่มมีสัญญาณที่อาจจะมีการกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่งของโคโรนาไวรัส ดังนั้นตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งนับเป็นตลาดที่มีความสำคัญ ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยเราประมาณ 11 ล้านคน ก็อาจจะชะลอออกไป ล่าสุดคาดว่านักท่องเที่ยวจีนอาจจะกลับมาไทยได้ราวไตรมาส 4 คือประมาณเดือนตุลาคมปีนี้หรือไม่ก็อาจจะถึงช่วงตรุษจีนปีหน้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเราคาดว่าปี 2563 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้นประมาณ 16.13 ล้านคน ลดลงร้อยละ 59 สร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 7.4 แสนล้านบาท คือลดลงร้อยละ 62 จากปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดภายในประเทศ เป็นตลาดที่ผมคิดว่าเป็นวิกฤติเชิงซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องการจำกัดการเดินทางซึ่งเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยลงไป ถ้าอนุมานทั้งปีน่าจะลดลงประมาณ 60% จากสถานการณ์ที่วิเคราะห์กัน ณ วันนี้”

“มหันตภัยโควิด-19 เป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยเจอมาก่อน ฉะนั้นปัจจัยที่จะทำให้การท่องเที่ยวเราฟื้นกลับมาขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างด้วยกัน ในความคิดเห็นของผม ถ้าภายในประเทศเรายังมีการแพร่ระบาด ต่างชาติก็คงยังไม่มั่นใจที่จะเดินทางมา อย่างประเทศจีนก็มีความชัดเจนเลยว่าถ้าเขาไม่มั่นใจว่าประเทศไหนที่เขาเดินทางไปแล้วกลับมาจะมีการระบาดซ้ำ เขาจะไม่อนุญาตให้เดินทาง อีกประการที่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญคือความพร้อมในด้าน Supply-side ของพวกเรา รวมทั้งมาตรการด้านการตลาด ส่วนคำถามที่ว่าแล้วในไตรมาสที่ 2-3 นี้ล่ะ เราควรทำอย่างไร การเตรียมความพร้อมด้าน Supply-side และมาตรการด้านการตลาด คือสิ่งที่เราควรทำในช่วงนี้”

“ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ไม่น่าจะเหมือนเดิม เราไม่สามารถจะขายสิ่งที่เหมือนเดิมได้แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างตอนนี้ การเดินทาง การเช็คอินที่สนามบินก็ไม่เหมือนเดิม ต้องผ่านการคัดกรองด้านสุขภาพมากขึ้น นั่นทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า New Normal สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ถามว่า New Normal คืออะไร ข้อปฏิบัติที่เกิดขึ้นซึ่งเราต้องปรับตัวตามไม่ใช่แค่ให้อยู่รอดในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ แต่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาวด้วย เพราะสิ่งที่เราทำมานี้ ต้องมองไปที่อนาคต ต้องมองว่าช่วงหลังโควิด-19 จะเกิดอะไรขึ้น อย่างที่เรียนว่าความพร้อมของ Supple-side เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความเร็วหรือช้าในการพลิกตัวของการท่องเที่ยวของประเทศไทย มาตรการการตลาดที่ควรจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีการใช้จ่ายสูงมากขึ้น เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น หลังจากนี้ อัตราการเข้าพักอาจจะลดลง ด้วยข้อจำกัดของ Social distancing คือการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวเราก็ควรถือโอกาสนี้ปรับภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยใหม่ ฉะนั้นในช่วงไตรมาส 2-3 นี้คือต้องประคองตัวเองให้ผ่านไปได้ก่อน เพราะตอนนี้ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทุกบริษัทค่อนข้างจะลำบาก สิ่งที่เราพยายามจะทำคือ ทำอย่างไรที่จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการให้อยู่ได้ และที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้ขานรับกับ New normal ที่จะต้องเกิดขึ้น ททท. เริ่มทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะกำหนดการจัดการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความมั่นใจที่เขาจะมาประเทศไทย มั่นใจเรื่องความปลอดภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรามีอะไรที่ทำให้เขามั่นใจหรือยัง”

New normal อาจเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม ท่านผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ขยายความถึง New normal ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า “New normal ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการท่องเที่ยว จะเป็นการ Set zero ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เรื่องแรกคือธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาคือ New normal ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย การกำหนดนโยบายการวางแผนเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัย และสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในยุคนี้คือการกำกับจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว Carrying Capacity สิ่งนี้ภูเก็ตพูดกันมาโดยตลอด ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นโอกาสให้เรื่องนี้เกิดได้เร็วขึ้น การกวาดต้อนคนมาเที่ยวให้เยอะๆ เหมือนในอดีตมันอาจจะทำไม่ได้แล้ว หรืออย่างข้อมูลที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมันอาจจะไม่พอแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมั่นใจและกล้าออกเดินทาง เช่น ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อการันตีความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้สิงคโปร์เขามีแล้ว เรียกว่า SG Clean เป็นเครื่องหมายที่สามารถจะไปติดไว้ เมื่อคนเห็นก็จะรู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัย รู้สึกมั่นใจในการใช้บริการต่างๆ ททท. ก็พยายามจะทำ แต่คงไม่ได้เป็นแค่การเอาสติ๊กเกอร์มาติดเพิ่มแต่จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดความมั่นใจจริงๆ ผมให้ทางสำนักงาน ททท.ในจีนเริ่มสำรวจว่าเมื่อมีการเปิดเมืองให้คนไปเที่ยว ตามโรงแรมต่างๆ เป็นอย่างไร ตามร้านอาหารเป็นอย่างไร เพื่อจะนำแนวปฏิบัติเหล่านี้เข้ามา ททท. ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข ททท. ทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในการที่จะสร้าง New normal ขึ้นมา ในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่จะเดินทางมา”

“การทำ Segmentation ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Health and wellness, Wedding and honeymoon, Sport, Green และอาจจะต้องเพิ่มกลุ่มใหม่ที่เป็น LoH คือ Life style of Health คือกลุ่มรักสุขภาพ เป็นกลุ่มคนที่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะปลอดภัย ผมคิดว่าเป็นเรื่องการตลาดที่เราจะต้องศึกษา เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ต่อไปนี้ผมคิดว่า Survival tips สำหรับผู้ประกอบการ 3 เรื่อง คือ 1. ปรับตัวใหม่ 2.ใส่ใจโลกใหม่ และ 3. สร้างสรรค์ความเป็นไทยใหม่”

“ททท. เคยกำหนดยุทธศาตร์ 5 Go ที่ผ่านมาเรามี 5 เป้าหมาย ตอนนี้เรามานั่งคุยกันใหม่ว่าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จาก 5 Go ผมขอยกมา 3 Go ที่ควรทำตอนนี้ Go ที่ 1 คือ Go High คือให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดที่เป็นกลุ่มเฉพาะ ทำเรื่อง Segmentation ต่อ เรามองว่าตลาดระยะไกลอย่างไรก็ต้องรักษาฐานไว้ เขาอาจจะไม่กลับมาวันนี้แต่ปีหน้าเขาต้องกลับมา พยายามรักษาฐานให้ได้และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ผมเรียกว่ากลุ่ม Go High แต่ตอนนี้เรามีเพิ่มอีก Go ขึ้นมา สำหรับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะ Go ที่ 2 เราใช้คำว่า Go Mass Q ซึ่ง Q มาจาก Quality ต้องยอมรับว่าในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเราจะคาดหวังตลาดที่มีคุณภาพสูงอย่างเดียว แต่จำนวนน้อย มันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายในช่วงของการปรับตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาเรารับคนค่อนข้างเยอะเป็น Mass แต่ตอนนี้เรามองไปอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่เป็น Sub ของกลุ่ม Mass คือเป็น Mass Q เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูงกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ย เราจะเรียกว่าเป็นกลุ่ม Mass Q พวกนี้คือกลุ่มที่ใกล้บ้านเรารวมทั้งกลุ่มที่มาจากรัสเซียด้วยแต่เราต้องคัดเลือกมากๆ ในการทำการตลาด”

“อีกสิ่งสำคัญที่เราต้องปรับตัวตอนนี้ คือ Go ที่ 3 คือ Go Digital ผมอยากจะเรียนว่า Digital เป็นหนึ่งในโลกใหม่ที่ผมเรียกว่าเป็น 3D สามมิติ เรื่องแรกคือ Digital พวกเราละเลยเรื่องนี้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ บางคนบอกว่า Digital is a life ด้วยซ้ำไป อาจจะมองเป็น New normal ต่อไปนี้นอกจากพาสปอร์ตที่เราถือเป็นเล่มๆ แล้วอาจจะต้องมี Digital Health Passport ที่ผู้โดยสารทุกคนต้องตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง หรืออย่างโรงแรม แขกที่มาเข้าพัก เพื่อลดการสัมผัส เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากใช้ Keycard มาเป็นสแกน QR code เข้าห้องพักแทน เหล่านี้เป็นต้น เราต้องปรับตัวกับ Digital และใช้มันให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ททท. เราพยายามพัฒนา Digital platform เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการตลาดทดแทน Trade Mart, Trade Meet, Roadshow ต่างๆ
ททท. ได้พัฒนา Platform ที่เรียกว่า Thailand Tourism Visual Mart หรือเรียกว่า TTVM ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 แล้วเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างพื้นที่การตลาดลักษณะที่เป็น Business to Business ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในการที่จะผลักดันการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่คนไม่เดินทาง เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะช่วยเหลือหาทางออกให้ผู้ประกอบการในลักษณะที่เราต้องอยู่แบบ Social distancing

“D ที่ 2 ที่อยากพูดถึง คือ Domestic เราคงจะต้องให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ New normal ที่ผ่านมาหลายๆ ฝ่ายมองว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเที่ยวบ้านเราที่สูงกว่าเดินทางไปต่างประเทศ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มปรับตัวมองตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้ามองแล้วโอกาสฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศน่าจะช้ากว่าตลาดภายในประเทศ ผมคิดว่าผู้ประกอบการต้องมียุทธศาสตร์รองรับ หลังโควิด-19 ตลาดภายในประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะด้วยข้อจำกัด Social distancing มีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทาง เราคงต้องมองตลาดภายในประเทศมาทดแทน ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วมีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 13 ล้านคน คนเหล่านี้อาจจะเป็น Prime target ของจังหวัดภูเก็ตหรือภาคใต้ก็ได้ เราจะดึงเขามาอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว เป็นเรื่องที่เราคงจะต้องมาวางแผนกันให้ดี คือให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเพิ่มมาก”

“D ตัวสุดท้าย คือ Dynamic พลวัตของการเปลี่ยนแปลง โลกจะไม่เหมือนเดิม มันเต็มด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น หลังจากโควิด-19 เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับการเปลี่ยนแปลง ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นตลอดเวลา สำคัญที่สุดเราต้องมีความยืดหยุ่นไม่ว่าจะการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ลดการพึ่งพา เมื่อก่อนเราเคยพึ่งพาตลาดอยู่ไม่กี่ตลาด ขายเอเย่นต์เดียวทั้งปี ก็อาจจะไม่ได้แล้ว ต้องมีการบริหารความเสี่ยง จำนวนอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดอีกต่อไปสำหรับแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างภูเก็ต แต่คุณภาพความปลอดภัยผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องสร้างและรักษาเพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในภูเก็ต ช่วงเวลาที่ทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่นี้ เราย้อนกลับไปดูสิ่งที่เคยเป็นปัญหาที่ผ่านมามีเรื่องอะไรบ้าง ยกตัวอย่างถ้ามองในภาพรวม ความไม่ปลอดภัย ปัญหาเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องการตัดราคา เรื่องอะไรบ้างเราต้องกลับมาช่วยกันทบทวนหาทางแก้ไข เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตไปในระยะยาว ทำอย่างไรให้การกลับมาใหม่ของเราเต็มไปด้วยความยั่งยืน ผมหวังและเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้ อย่างไรเขาก็ต้องมาภูเก็ต”

“สิ่งที่ผมตั้งใจจะสื่อสารไปถึงพี่น้องผู้ประกอบการชาวภูเก็ตโดยเฉพาะคือ Don’t give up ผมและทีมงานทุกคนของ ททท. ทำงานเต็มที่ เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นแน่นอนว่ามันอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็เชื่อมั่นว่าเราจะกลับมาอย่างเข้มแข็ง และคนที่จะทำให้เรากลับมาอย่างเข้มแข็งได้ก็คือคนภูเก็ต หรือผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง ททท. พร้อมจะช่วยเหลือ ไม่ใช่แค่ให้กำลังใจ แต่ขอให้บอกว่าเราทำอะไรได้ เรายินดีอย่างยิ่ง กำลังใจให้เต็มร้อยอยู่แล้ว ขอเพียงพี่น้องคนภูเก็ต ผู้ประกอบการภูเก็ต อย่ายอมแพ้ แล้ว ททท. พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน เราจะเคียงข้างผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เราจะกลับมามีความสุขด้วยรอยยิ้ม โรงแรมที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ชายหาดที่มีนักท่องเที่ยว ยังคงความสวยงามภายใต้ New normal ที่สำคัญคือ Don’t give up ครับ”

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.