เรียนวิชาชาวเกาะ101 ที่เกาะโหลน

เรียนวิชาชาวเกาะ101 ที่เกาะโหลน-2

‘เที่ยวทะเลภูเก็ต’ หลายๆ คน คงนึกถึงภาพการนั่งเรือหรูออกไปเที่ยวชายหาดบนเกาะสุดฮิต ที่มีนักท่องเที่ยวนอนอาบแดดบนหาดทรายขาว เต็มไปด้วยกิจกรรมบนหาดสารพัดให้เลือก แต่เรากลับนึกถึงการเที่ยวทะเลที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะจริงๆ คิดถึงความเป็นธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่ง นึกถึงชายหาดเงียบสงบ ให้เรานั่งอ้อยสร้อยแบบไม่ต้องแคร์ว่ามีใครคอยเรียกกลับบ้าน ภูเก็ตยังมีวิถีชีวิตแบบนั้นให้เราได้ไปสัมผัส และอยู่ไม่ไกลซะด้วย นั่งเรือแค่ 15 นาทีก็ไปถึง ที่นั่นคือ “เกาะโหลน”

เกาะโหลนเป็นหนึ่งในเกาะบริวารของเกาะภูเก็ต อยู่ในพื้นที่ตำบลราไวย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 30 ครัวเรือน อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านส่วนใหญ่คือ อาชีพประมงและการเกษตร ปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน เปิดรับนักท่องเที่ยวให้ได้เข้ามาเรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาะโหลน

เป้าหมายของเราสำหรับทริปนี้คือ ไปเทคคอร์ส ‘ชาวเกาะ101’ ไปเรียนรู้วิชาพื้นฐานการเป็นชาวเกาะจากวิถีชีวิตของชาวบ้านบนเกาะโหลน บทเรียนเริ่มต้นจากการเดินทางโดยพาหนะที่ชาวบ้านใช้ คือเรือหัวโทง ขึ้นเรือที่ท่าเรืออ่าวฉลอง เวลาประมาณ 9.00 น. ภายในเวลาเพียง 15 นาที เราก็ปลีกตัวจากความคลาคล่ำของเกาะภูเก็ตมาถึงท่าเรือเล็กๆ ที่ดูเงียบสงบของเกาะโหลน  แวะเข้าไปนั่งพักที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวชุมชนเกาะโหลน ดื่มน้ำผลไม้เย็นๆ ให้หายเหนื่อย welcome drink ของที่นี่เป็นน้ำสับปะรดที่ใช้สับปะรดที่ปลูกบนเกาะโหลน รสชาติหวานเย็นชื่นใจ แถมมีเนื้อสับปะรดให้เคี้ยวเล่นด้วย จากนั้นตัวแทนกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเกาะโหลนก็จะเล่าถึงข้อมูลภาพรวมของเกาะโหลนให้เราฟัง ทำให้เรารู้จักเกาะโหลนมากขึ้น เช่น ชุมชนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม, ชาวเกาะโหลนรุ่นใหม่ย้ายไปอาศัยและทำงานบนเกาะภูเก็ตกันมากขึ้น, ชื่อเกาะโหลนนั้นมีที่มาจากอดีต ชาวบ้านนิยมเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย มักจูงวัวควายมากินหญ้าจนเตียนโล่งเป็นเขาหัวโล้น หรือเกาะโล้น และเพี้ยนมาเป็นเกาะโหลนในที่สุด

จบภาคบรรยายสำหรับข้อมูลทั่วไปของเกาะโหลนแล้ว เราจะได้เริ่มยืดเส้นยืดสายกันบ้าง เริ่มจากเรียนรู้การตกปลาแบบโบราณ โดยมีชาวบ้านเป็นผู้สอนวิธีผูกเบ็ด เตรียมเหยื่อ แล้วพวกเราก็ออกเรือมุ่งหน้าสู่เกาะทะนานซึ่งอยู่ไม่ไกล เริ่มต้นการตกปลาภาคปฏิบัติกันเลย

เรือมาถึงจุดตกปลา ครูผู้สอนวิชาตกปลาของเราจะแนะนำวิธีการตกปลาโดยใช้เพียงสายเอ็น เบ็ด ตะกั่วสำหรับถ่วงเบ็ด และเหยื่อล่อปลา ซึ่งวันนี้เราใช้เนื้อหมึกโวยวายตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เริ่มต้นหย่อนเบ็ดลงทะเล แล้วก็นั่งรอ ถ้าเอ็นกระตุก แปลว่ามีปลามากินเหยื่อ ให้รีบสาวเอ็นขึ้น ไม่นานเราก็ตกปลาตัวแรกได้สำเร็จ แล้วก็มีตัวอื่นๆ ตามมาทั้งปลาเก๋า ปลาตาจง ปลาจวด นั่งลอยเรือตกปลาตากลมไปเรื่อยๆ เป็นอะไรที่ชิลล์สุดๆ แถมสบายใจได้ว่ามื้อเที่ยงวันนี้เรารอดตายแน่ กลับขึ้นเกาะโหลนเลยรีบเอาการบ้านคือปลาที่ตกกันมาได้ไปส่งให้แม่ครัวทำกับข้าว จะเป็นปลาทอด หรือ ต้มยำ เลือกได้ตามต้องการ

วิชาแรกผ่านไปแล้ว ก็ถึงเวลาเรียนรู้วิชาคหกรรมชาวเกาะ ทำขนมซึ่งมีทั้งขนมต้มใบมะพร้าว ที่จะมี ‘จ๊ะ’ หรือพี่สาวชาวมุสลิมมาช่วยสอนเราตั้งแต่การสานใบมะพร้าวอ่อนให้เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียว ไปจนถึงการนำข้าวเหนียวลงไปต้มในน้ำกะทิใส่น้ำตาลเพิ่มความหวานมัน ระหว่างต้มข้าวเหนียวทิ้งไว้ เราก็ไปเรียนวิธีทำขนมอีกชนิดกับ ‘หม้ะ’ หรือคุณแม่ชาวมุสลิมใจดี ที่จะสอนวิธีทำขนมโค หรือขนมคู ขนมพื้นเมืองเป็นแป้งปั้นเป็นก้อนกลมใส่ไส้น้ำตาลแว่น หรือน้ำตาลมะพร้าวตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ลงไปต้มในน้ำเดือดจนสุกแล้วตักขึ้น คลุกมะพร้าวขูด ที่ผ่านมาเคยกินขนมโคมาหลายครั้งก็ไม่รู้สึกว่าอร่อยเท่าครั้งนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะขนมทำสดใหม่กินตอนร้อนๆ เลยรสชาติดี หรือเป็นเพราะฝีมือตัวเองกันแน่

เพลินกับการเรียนทำขนมพื้นเมืองไม่นาน กลิ่นอาหารหอมฉุยก็ลอยทะลุครัวมาแตะจมูก ไม่นานเกินสำรับก็ถูกลำเลียงมาวางบนแคร่ริมหาด นอกจากต้มยำปลาที่ใช้ปลาสดซึ่งเราตกมาได้แล้ว ยังมีเมนูอื่นๆ เช่น ต้มส้มบอนขาว ปลาทอดเกลือกรอบกัดได้ทั้งตัว น้ำชุบหรือน้ำพริกพื้นเมือง ผักเหมียงผัดไข่ แกงส้ม ที่เด็ดสุดต้องยกให้จานนี้ ส้มตำผักเหมียง ที่เอาใบเหมียงมาชุบแป้งทอดจนกรอบ คลุกกับน้ำส้มตำรสจัดจ้าน เพิ่งเคยทานที่แรกที่เกาะโหลนบอกเลยว่าติดใจ พี่ๆ ชาวบ้านบอกว่า ทุกเมนูปรุงมาจากพืชผักสมุนไพรที่ปลูกกันเองในชุมชน รวมทั้งปลาก็เป็นปลาจากชาวประมงพื้นบ้าน เป็นแหล่งอาหารใกล้ๆ ตัวทั้งนั้น

จบมื้อเที่ยงแบบ slow lunch เพราะกินกันแบบเรื่อยๆ ฉีกปลาคลุกข้าว ซดน้ำต้มยำ ลองจานโน้น ชิมจานนี้ เติมข้าวกันหลายรอบเลยทีเดียว ลมทะเลก็พัดเย็นสบาย หนังท้องตึง หนังตาเริ่มหย่อน แต่เดี๋ยวก่อน คุณครูที่จะสอนเราย้อมผ้ายังรอนักเรียนอยู่

วิชาชาวเกาะวิชาต่อมาคือวิชาศิลปะชาวเกาะ เรียนรู้การทำผ้าบาติกมัดย้อม ซึ่งในส่วนของบาติกก็มีลายเอกลักษณ์ของเกาะโหลน คือลายหมึกโวยวาย หรือที่ชาวเกาะโหลนเรียกกันว่า นอย่า และยังมีลายอื่นๆ เช่น ลายนกเงือก ที่สามารถพบได้บนเกาะโหลน ลายปะการัง ลายเรือนโบราณ รวมทั้งยังสอนวิธีทำผ้ามัดย้อม ซึ่งสามารถย้อมสีธรรมชาติได้ เราได้ลงมือทำผ้าเช็ดหน้ามัดย้อมคนละผืน เอากลับไปเป็นของฝากคนที่บ้านด้วย ระหว่างทำผ้ามัดย้อมชาวบ้านเล่าเรื่องหมึกโวยวายให้ฟัง ทำให้เราชักอยากเจอหน้าเจ้าหมึกตัวนี้ซะแล้ว พี่ๆ จึงบอกให้รอตอนเย็นเมื่อน้ำลด จะพาเราไปเรียนวิชาแทงหมึกเพิ่มเติมแถมให้ด้วย

เรียนไปหลายวิชาแล้ว ก็ได้เวลาพัก จะเล่นน้ำทะเล เดินเล่น นั่งเล่น นอนเล่น ก็ตามอัธยาศัย เราเลือกออกไปเดินเล่นเลาะชายหาด ตัดเข้าหมู่บ้านไปดูวิถีชีวิตของชาวเกาะโหลน ผ่านโรงเรียนบ้านเกาะโหลน ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ ผ่านมัสยิด ผ่านลำคลอง ทุ่งหญ้า ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนบนเกาะนี้สงบและเรียบง่ายจริงๆ

เดินเล่นกลับมายังไม่ถึงเวลาน้ำลด พวกเราเลยพร้อมใจกันแยกย้ายหามุมงีบ มีลมทะเลกับเปลญวนช่วยกล่อม หนึ่งงีบท่ามกลางเสียงคลื่นริมหาดมันเป็นอะไรที่สบายจริงๆ บ่ายแก่ๆ ครูสอนวิชาแทงหมึกบอกถึงเวลาไปตามหาเจ้าหมึกโวยวาย หมึกสายตัวจิ๋วกันแล้ว

เดินเลียบหาดพร้อมอุปกรณ์เพียงไม้แทงหมึก กับก้านมะพร้าว เหยื่อไปหาเอาข้างหน้า ซึ่งก็คือเนื้อปูตัวเล็กๆ ตามชายฝั่ง ที่จับแล้วฉีกเอาเนื้อมาเป็นเหยื่อล่อหมึกโวยวาย ชายฝั่งตอนน้ำลดทำให้เราเห็นสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ทั้งปู ปลา ปลิง กั้ง ครูของเราคอยชี้คอยบอกว่าตัวนั้นตัวนี้มีชื้อเรียกว่าอะไร ธรรมชาติตรงหน้าคือห้องเรียนที่มีชีวิต

เราเดินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอที่รูที่หมึกโวยวายอาศัยอยู่ ครูสอนวิชาแทงหมึกสาธิตวิธีจับหมึกโวยวายให้เราดู มีการวางเหยื่อล่อ สังเกตเวลาหมึกกินเหยื่อแล้วค่อยจับ ทั้งรอทั้งลุ้น สรุปเราจับหมึกโวยวายได้ตั้ง 3 ตัว

17.00 น. ถึงเวลาต้องขึ้นเรือกลับซะแล้ว ใจจริงก็อยากอยู่ต่อ เพราะบนเกาะมีโฮมสเตย์ของชาวบ้านให้บริการด้วย แต่เพราะมีภารกิจรออยู่ เราลาชาวบ้านทุกคนซึ่งก็คือครูที่ให้ความรู้วิชาชาวเกาะ101 กับเราในวันนี้ ก่อนกลับยังใจดีแถมสับปะรดลูกโตให้เราติดมือกลับบ้านด้วย หนึ่งวันที่ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเกาะโหลน ได้มาเรียนรู้ผ่านการเที่ยวเล่น คือหนึ่งวันที่เราได้ถอดปลั๊กตัวเองออกจากตารางชีวิตชาวเมืองมาลองเป็นชาวเกาะ อยู่กับลม กับฟ้า กับน้ำทะเล กินง่าย นอนง่าย เก็บเป็นความประทับใจ และมีเวลาอีกเมื่อไหร่จะต้องกลับมาเป็นชาวเกาะที่เกาะโหลนอีกแน่นอน

สนใจกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเกาะโหลน ติดต่อ คุณทรงสิทธิ์ 085 429 0021

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.