สานต่อที่พ่อทำ น้อมนำที่พ่อสอน

สานต่อที่พ่อทำ น้อมนำที่พ่อสอน-1

หนึ่งปีแห่งความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทยผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว การสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งประดุจพ่อของแผ่นดิน ยังทำให้หลายๆ คนมีน้ำตาและไม่อยากยอมรับว่าเป็นความจริง แต่หากได้มองย้อนกลับไปตลอด 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ นับพันโครงการ ล้วนเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ทรงเป็นแบบอย่างในสิ่งที่ดีหลายๆ ประการ หากเราได้ศึกษาถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์อย่างถ่องแท้แล้ว เราจะได้บทเรียนที่ดีอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต จึงน่าจะเป็นการดี หากเราจะถือโอกาสนี้เปลี่ยนความเศร้าโศกอาดูรให้เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ สานต่อแนวทางที่พระองค์ได้สร้างไว้ น้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในการดำเนินชีวิต เฉกเช่นชายคนนี้ คุณชลอ การะเกต ชาวตำบลป่าคลอก ประธานกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์บ้านป่าคลอก สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดภูเก็ต ผู้ซึ่งเปลี่ยนแนวคิดพลิกชีวิตโดยยึดหลัก “ตามรอยพ่อ” นำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพ แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง

คุณชลอเล่าถึงตัวเองเมื่อก่อนว่า “เดิมผมทำอาชีพประมงชายฝั่ง ซึ่งสมัย 10 กว่าปีก่อนที่ตำบลป่าคลอกนี้ประมงชายฝั่งเริ่มเกิดวิกฤติ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมชายฝั่งถูกทำลาย กุ้งหอยปูปลาหายากขึ้นต้องต่อสู้ดิ้นรนจากความยากจนมาตลอด ผมจึงหันมาประกอบอาชีพการเกษตร โดยได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุเนื่องจากผมไม่มีที่ดินของตัวเอง แรกเริ่มก็ปลูกผักแบบทั่วไป คือใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง หวังแค่เพียงให้ได้ผลผลิตพอกับความต้องการของตลาด โดยไม่ได้คิดถึงอันตรายพิษภัยของสารเคมี จนกระทั่งวันหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาสุ่มตรวจสารพิษตกค้างโดยการตรวจเลือด ผลออกมาว่าตัวผมเองไม่เจอสารพิษตกค้างในเลือด แต่ภรรยาของผมเจอว่ามีสารพิษตกค้าง เพราะภรรยาเป็นคนเก็บผลผลิตโดยไม่ได้ป้องกันอะไรเลย ผมเป็นคนฉีดพ่นยาแต่ผมป้องกันตัวเองทุกอย่าง หลังจากนั้นผมคิดขึ้นมาทันทีว่าเราทำบาปมามากพอสมควร ที่ฉีดพ่นยาใส่พืชผักแล้วขายให้คนอื่นเอาไปบริโภค เหมือนเราฆ่าคนทางอ้อม หลังจากนั้นผมพยายามศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และพยายามนำมาทดลองปรับใช้ บวกกับพยายามนำภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ ช่วงแรกยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะเรายังยึดติดกับสารเคมีซึ่งเห็นผลทันตา แต่เมื่อใช้สารชีวภาพจาก


ธรรมชาติมันเห็นผลช้ากว่า แต่ผมก็ตั้งใจพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ พยายามศึกษาว่าโครงการต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำอย่างไรโดยไม่ต้องใช้สารเคมี แล้วนำมาทดลอง ประมาณ 1 เดือนจึงเริ่มเห็นผล เริ่มเห็นมดแดงคาบหนอนกลับรัง เห็นสิ่งมีชีวิตตามพื้นดิน ใต้ดิน บนใบไม้ใบหญ้า เริ่มเห็นมูลไส้เดือน จากเดิมที่ไม่เคยเห็นเลย วงจรชีวิตตามธรรมชาติเริ่มกลับมา เมื่อเห็นข้อเปรียบเทียบ ผมหยุดใช้สารเคมีและหันมาใช้สารสกัดชีวภาพทั้งหมด ผลผลิตอาจจะเสียหายไปบ้างแต่เราลดต้นทุนค่าสารเคมีไปได้เยอะ และสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือเรื่องสุขภาพของเราเองที่ดีขึ้น ได้ความสบายใจที่ได้ปลูกสิ่งที่ปลอดภัยให้คนอื่นกิน เราหันมาปลูกพืชผสมผสาน หลังจากที่ทำได้สำเร็จ ก็มองเห็นว่าเรามาใช้พื้นที่ตรงนี้หาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัว ทำประโยชน์เพื่อตัวเองแล้ว ก็อยากจะสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นบ้าง ความคิดที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นโดยที่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่”

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2552 คุณชลอ มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง เป็นโครงการเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงพระชนมายุ 84 พรรษา ทำให้มีโอกาสไปอบรม ไปศึกษาดูงานจากกลุ่มอื่นๆ จากปราชญ์ชาวบ้าน หรือหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง “หลังจากได้ไปดูงานหลายๆ ที่ กลับมาได้แนวคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยทำเลยคือการวิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์ครัวเรือน วิเคราะห์ชุมชน การได้ศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการในพระราชดำริทำให้ผมเริ่มหันมามองคนรอบข้าง มองปัญหาของชุมชนและสังคมที่เกิดขึ้น พบว่าตำบลป่าคลอกของเรานั้นมีปัญหาหลักๆ คือเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร ปัญหาจากสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การที่เราจะแก้ปัญหาได้จะต้องมีแนวร่วม ในเวลาต่อมาจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์บ้านป่าคลอก แม้ในระยะแรกการรวมกลุ่มจะยากสักนิด แต่เมื่อชาวบ้านได้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการมีเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในการประกอบอาชีพ ช่วยกันดูแลแก้ปัญหาในชุมชน มีหน่วยงานรัฐเข้ามาหนุนเสริม มีการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเพื่อส่งเสริมการออม จากเดิมในชุมชนมีปัญหาหนี้สิน แต่ในกลุ่มออมทรัพย์นี้สมาชิกจะต้องนำเงินมาฝากกับกลุ่มคนละ 100 บาทต่อเดือน เงินส่วนนี้สมาชิกคนไหนที่ลำบากเดือดร้อนต้องการใช้เงินในการลงทุนประกอบอาชีพ หรือยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลูกหลานบวชหรือจ่ายค่าเทอมก็สามารถมากู้ยืมไปใช้ก่อนแล้วนำมาจ่ายคืนในภายหลังได้โดยไม่มีดอกเบี้ย นอกจากนั้น กลุ่มยังมีกิจกรรมอื่นๆที่ทำร่วมกัน เช่นเรื่องการจัดการขยะ การทำน้ำหมักชีวภาพ ทำน้ำยาล้างจาน หรือการปลูกผักในล้อยางรถยนต์สำหรับบางบ้านที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูก ภูเก็ตนั้นมีปริมาณขยะล้อยางรถยนต์เป็นจำนวนมาก ผมก็จัดการหามาแจกจ่ายให้สมาชิกนำไปใช้ปลูกผักกินเองที่บ้าน เพื่อจะช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันหลังจากที่เราทำโครงการนี้ สมาชิกปลูกผักบริโภคในครัวเรือนไม่หมด เราก็เปิดเป็นตลาดรวบรวมผักต่างๆ ที่สมาชิกปลูกในครัวเรือนมาวางขาย สามารถสร้างรายได้ส่วนหนึ่ง สร้างความภูมิใจให้กับสมาชิกในกลุ่มได้ คือเรานำปัญหาต่างๆ มาคิดหาทางแก้ไข อะไรที่ดีจะก็จะนำไปขยายผลในกลุ่มของเราและขยายไปสู่ชุมชน และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชุมชนของเรา”

คุณชลอในวันนี้ ด้วยความเพียรพยายามศึกษา ทดลอง เรียนรู้ในอาชีพของตน เขาได้กลายเป็นวิทยากร เป็นปราชญ์ชาวบ้านและเป็นผู้ก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ป่าคลอก” ที่ศูนย์แห่งนี้มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ การเลี้ยงกบในยางรถยนต์ การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงปลา การปลูกผักพื้นบ้าน การปลูกถั่วพูร้อยสาย การผลิตน้ำบริสุทธิ์จากต้นไผ่ การทำน้ำหมักชีวภาพ สารพัดหนทางทำมาหากินมาเรียนรู้ได้ที่นี่ มีหน่วยงาน นักเรียนนักศึกษา ผู้สนใจวนเวียนกันมาศึกษาดูงานอยู่เสมอ

“ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกลุ่มต่างๆ ถึง 6 กลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ฯ กลุ่มออมทรัพย์ฯ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นศูนย์ธนาคารต้นไม้ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่คนป่าคลอกเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่มีคนจากทุกแห่งหนทั่วประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน เป็นศูนย์ที่มีความรู้มีกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะการทำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ ผมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน บางคนมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ทฤษฎี แต่ที่นี่จะทำให้เห็นในทางปฏิบัติ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม”

“คนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำน้ำหมักชีวภาพ ต้องปลูกผักเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น การนำไปปรับใช้ขึ้นอยู่กับบริบทของคุณ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและปัจจัยต่างๆ ของชุมชนหรือบุคคลนั้นๆ หลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจและนำไปใช้ ทุกคนทำได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ทำไม่ได้เพราะมองเรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก จริงๆ แล้วแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านคิดมาจริงๆ เป็นวิถีชีวิตเป็นของที่มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทุกคนทุกอาชีพน้อมนำไปปฏิบัติได้ คุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานบริษัท ทำอาชีพค้าขาย ทุกคนทำได้ อย่างแรกคือเรารู้จักตัวเองแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้จักตัวเอง เราไม่ได้มองตัวเองว่าเราพอประมาณอยู่แค่ไหน เราอยากมีอยากได้เกินตัว จึงต้องไปเป็นหนี้เป็นสิน เรื่องของภูมิคุ้มกันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องวางแผนชีวิตว่าต้องมีเงินเก็บเงินออมเท่าไหร่ เพื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน อีกประการที่สำคัญคือ คุณธรรม การคิดเผื่อแผ่ผู้อื่นอย่าเอาแต่ตัวเองรอด ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ความรู้ผมแค่ ป.6 แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดคือการที่ผมสามารถสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ให้คนมาหาความรู้กลับไปประกอบอาชีพประสบความสำเร็จได้ การให้เราไม่จำเป็นต้องให้เงินให้ทอง แต่ให้ความรู้ให้สิ่งที่ดีติดตัวเขาไป ทุกอย่างล้วนมาจากหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งนั้น อาชีพไหนๆ ก็นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้”

“พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์แต่ทำไมต้องมาลุยโคลน ตากแดด ตากฝน ทรงทำงานหนักตลอด 70 ปี แนวทางปฏิบัติของพระองค์เราได้เห็นเป็นตัวอย่าง แม้วันนี้พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่งานของพระองค์ คำสอนของพระองค์เราคนไทยช่วยกันสานต่อได้ คำว่ารักในหลวงใครๆ ก็พูดได้ แต่การกระทำนั้นสำคัญที่สุด สิ่งที่พระองค์ต้องการคือให้คนไทยอยู่ดีกินดี รักกันกลมเกลียวกัน เราอย่ามัวคิดเศร้าเสียใจว่าพระองค์ท่านจากไปแล้ว แต่ให้มองว่าทุกวันนี้พระองค์ท่านยังอยู่ข้างกายเรา ยังอยู่คู่กับเรา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือโครงการดีๆ ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้ เราเป็นคนไทยคนหนึ่งขอให้หยิบเศษเสี้ยวนั้นมาปฏิบัติและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราให้ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน และขอฝากถึงลูกหลานคนรุ่นหลังให้ระลึกว่าเรามีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่สร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับผืนแผ่นดินไทย เป็นเรื่องราวที่สืบทอดให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้นำปฏิบัติต่อไป จะเกิดประโยชน์และเกิดความสุขแก่ประเทศของเราอย่างแน่นอน”

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.