ขนมเต่าแดง ศรัทธาแห่งเทศกาลพ้อต่อ

ขนมเต่าแดง ศรัทธาแห่งเทศกาลพ้อต่อ-1

ภูเก็ตช่วงนี้อยู่ในช่วง “เทศกาลพ้อต่อ” ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการบำเพ็ญกุศลบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและผู้ล่วงลับ ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและดวงวิญญาณเร่ร่อน ซึ่งมีทั้งการไหว้ที่บ้าน ไหว้ร่วมกันในชุมชน ตลาด และศาลเจ้าต่างๆ นอกจากเครื่องบูชาที่ตั้งโต๊ะไหว้ คืออาหารทั้งคาวหวานและผลไม้ต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่คู่กับเทศกาลพ้อต่อมาช้านาน และเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ คือ ขนมเต่าแดง หรือที่เรียกว่า อั่งกู้ หรือ ตั่วกู้ ถ้าเป็นเต่าตัวใหญ่ ซึ่งชาวภูเก็ตจะนิยมนำไปไหว้องค์พ้อต่อก๊ง องค์เทพเจ้าแห่งประเพณีพ้อต่อตามความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา

การไหว้องค์พ้อต่อก๊งด้วยขนมเต่าแดงนั้น ก็ด้วยความเชื่อที่ว่า เต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน เมื่อเรานำขนมเต่าไปไหว้องค์เทพเจ้าก็จะบันดาลให้เรามีอายุยืน การไหว้ขนมเต่าในเทศกาลพ้อต่อจังหวัดภูเก็ตจะคึกคักที่สุดที่ศาลเจ้าพ้อต่อก๊ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนตะกั่วทุ่ง ที่ศาลเจ้าเล็กๆ หัวมุมถนนแห่งนี้ จะจัดงานพ้อต่ออย่างคึกคักเป็นประจำทุกปี มีมหรสพจัดแสดง ทั้งลิเก งิ้ว หนังกลางแปลง ผู้คนจะมากราบไหว้ขอพร และนำขนมเต่าแดงมาถวายองค์พ้อต่อก๊งตั้งโต๊ะไหว้กันยาวหลายเมตรนับแต่อดีตจนปัจจุบัน

คุณวิภาดา ทองภิญโญชัย หรือ คุณกี๋ เจ้าของร้านเค่งติ้น ร้านทำขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่เปิดกิจการมานานร่วม 100 ปี และเป็นร้านดั้งเดิมที่ทำขนมเต่าแดงจำหน่ายในช่วงเทศกาลพ้อต่อเล่าว่า “ร้านเราทำขนมเต่าไหว้พ้อต่อก๊งมาตั้งแต่รุ่นอากง นับเวลาก็น่าจะร่วมๆ 100 ปีได้ ภาพที่จำได้ตอนเด็กๆ ในอดีตงานพ้อต่อจะคึกคักกว่าสมัยนี้มาก บริษัทห้างร้านต่างๆ จะสั่งทำเต่าตัวใหญ่ตกแต่งสวยงามไปไหว้ เวลาแห่เต่าจะคึกคัก จำได้ว่ามีบริษัทที่สั่งทำเต่าตัวใหญ่ราคาถึงหมื่นกว่าบาท สมัยนั้นเงินหมื่นไม่ใช่น้อยๆ เลย คือบริษัทไทยซาร์โก้ เวลาแห่เต่าต้องใช้คนหามหลายคน ที่ร้านมีลูกค้าประจำเยอะมากที่สั่งขนมเต่ากันทุกปี ทั้งบริษัทห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ หรือสั่งเป็นครอบครัว ส่วนใหญ่สั่งกันมาตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า เดี๋ยวนี้ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป คนรุ่นหลังยังสืบสานอยู่บ้างแต่ก็น้อยลง ยิ่งเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่สนใจเลยว่าประเพณีนี้คืออะไร”

คุณกี๋เล่าว่าปัจจุบันยังมีคนสั่งเต่าไปไหว้ทุกปีแม้จะลดลงบ้างในแต่ละปี ส่วนใหญ่ก็ยังไหว้กันเป็นครอบครัว บริษัทห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกลุ่มลูกศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาองค์พ้อต่อก๊ง หรือเป็นม้าทรง บางคนเคยไปขอลูกจากองค์พ้อต่อก๊ง ซึ่งท่านศักดิ์สิทธิ์เรื่องนี้ แล้วได้ลูกสมใจหวังก็พาลูกมาถวายขนมเต่าให้ท่านทุกปี บางคนไปขอพรท่านแล้วสำเร็จก็จะต้องมาแก้บน จะมีบ้างที่สั่งทำเต่าตัวใหญ่ขนาด 1 – 2 เมตร หรือเต่าสีต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ แต่ขนาดทั่วไปที่ร้านทำขายอยู่นั้นก็จะมีตั้งแต่ราคา 100 บาท เป็นตัวเล็กสุด 300, 500, 1,000, 1,500 บาท และมากกว่านั้นจนถึงราคา 15,000 บาท แล้วแต่ลูกค้าสั่งจองกันมา

ขนมเต่านั้นทำมาจากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำเชื่อม หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน จนแป้งมีความหนืดได้ที่ จากนั้นนำแป้งสีขาวมาแผ่วางบนโครงกระดองเต่า ซึ่งทำจากขี้เลื่อยห่อกระดาษ หัวเต่าใช้แป้งหุ้มโครงไม้ เติมเท้าทั้ง 4 เท้าและหาง จากนั้นทาสีตัวเต่าด้วยสีแดงซึ่งเป็นสีผสมอาหาร แล้วใช้แป้งผสมสีต่างๆ ตกแต่งลวดลายบนตัวเต่า ปั้นเป็นดอกไม้ เขียนคำอวยพรต่างๆ เช่น สุขภาพแข็งแรง กิจการรุ่งเรือง แก้ว แหวน เงิน ทอง รวมทั้งอาจจะใส่ชื่อบริษัท ชื่อร้าน หรือชื่อ-นามสกุลผู้ซื้อเต่าถวายด้วย คำอวยพรนี้ลูกค้าบางคนก็สั่งมาเลยว่าอยากได้แบบไหน บางคนอยากได้เรื่องสุขภาพ บางคนอยากได้เรื่องการค้าขายหรือหน้าที่การงาน จะให้เขียนว่าอะไรบ้างทางร้านยินดีทำให้ แต่ต้องสั่งล่วงหน้า ตกแต่งลายบนตัวเต่าเสร็จแล้วก็เคลือบด้วยน้ำมันพืชให้แวววาวสวยงามและก่อนขนมเต่าจะถูกขายออกจากร้าน ทางร้านจะตกแต่งหัวเต่าติดผ้าสีชมพู พร้อมให้ผู้ซื้อยกไปถวายองค์พ้อต่อก๊งที่ศาลเจ้าต่อไป เมื่อไหว้เสร็จแล้ว บางครอบครัวก็ยกกลับไปตัดแบ่งกันรับประทานในหมู่ญาติพี่น้อง บ้างก็บริจาคให้ศาลเจ้า ทางศาลเจ้าจะนำไปทอดแจกจ่ายคนที่มาไหว้ในงาน การนำขนมเต่ามารับประทาน ควรตัดส่วนที่เป็นสีและลวดลายออกก่อน เหลือแต่แป้งขาวๆ ชุบกับไข่ทอดรับประทานร้อนๆ อร่อยมากทีเดียว

“ที่ร้านเรานั้นยังคงรักษาวิธีการทำขนมเต่าแบบดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แป้งข้าวเหนียวต้องเป็นแป้งที่ทางร้านสีเอง ใช้แป้งสำเร็จรูปไม่ได้ เพราะอาจจะมีการผสมแป้งชนิดอื่นซึ่งจะทำให้เนื้อขนมเต่าไม่ได้ลักษณะตามที่ต้องการ การกวนแป้งหมักแป้ง ช่างทำขนมซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของร้านจะดูแลเองทุกขั้นตอน เป็นสูตรเฉพาะดั้งเดิมของทางร้าน แต่ละปีร้านใช้แป้งหลายพันกิโลกรัมในการทำขนมเต่า และจะต้องเตรียมการก่อนล่วงหน้าเป็นเดือน ทั้งเตรียมไม้กระดานรองตัวเต่า เตรียมโครงกระดองเต่า เพื่อให้มีขนมเต่าเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันจะเห็นว่าคนนำเต่าแบบอื่นๆ ไปไหว้กันมากขึ้น เป็นวุ้นเต่าบ้าง ขนมเค้กเต่าบ้าง จริงๆ ก็อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์วิถีเดิมๆ เอาไว้ ไม่เช่นนั้นประเพณีจะผิดเพี้ยนไป”

 

 

“ประเพณีการไหว้ขนมเต่าเป็นประเพณีที่น่าภาคภูมิใจของชาวภูเก็ต เพราะเป็นเอกลักษณ์ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้ การไหว้ขอพรเทพเจ้าก็เป็นสิริมงคลกับตัวเองโดยเฉพาะกับผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา จึงอยากให้คนรุ่นหลังได้ช่วยกันสืบสานและทำให้ถูกต้อง น่าดีใจที่ปัจจุบันก็มีคนมองเห็นคุณค่า อย่างศิลปินกราฟิตี้ก็เอาขนมเต่าไปวาดเป็นน้องมาร์ดี้ขนมเต่าแดงบนผนังตึกเก่าถนนถลาง เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาสืบสานกันมากขึ้น ประเพณีที่ดีงามของเราจะได้คงอยู่ต่อไป” คุณกี๋ฝากทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.